เลือดกำเดาไหล...

เลือดกำเดา, เลือดกำเดาไหล, การตกเลือดกำเดา หรือเลือดออกจมูก (Epistaxis หรือ Nosebleed) หมายถึง ภาวะที่มีเลือดออกจากโพรงจมูกทางส่วนหน้าหรือส่วนหลังของโพรงจมูก โดยส่วนใหญ่ประมาณ 90% ของเลือดกำเดาไหลจะเกิดขึ้นที่บริเวณผนังกั้นจมูกด้านหน้าซึ่งเป็นบริเวณที่มีหลอดเลือดแดงหลายเส้นมาบรรจบกันเป็นร่างแหหรือเป็นตาข่าย ที่เรียกว่า Kiessel bach’s plexus หรือ Little’s area เมื่อหลอดเลือดเหล่านี้มีการแตกทำลายหรือเกิดการฉีกขาดก็จะทำให้มีเลือดสด ๆ ไหลออกจากทางรูจมูก ซึ่งมักออกเพียงข้างเดียว (บางรายอาจออกทั้ง 2 ข้างก็ได้) ส่วนใหญ่ภาวะนี้มักเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน แต่โดยมากมักจะไม่เป็นอันตรายหรือมีสาเหตุที่ร้ายแรง ซึ่งจะทำให้มีเลือดออกเพียงเล็กน้อยและหยุดไหลได้เอง เพราะร่างกายมีการสร้างลิ่มเลือดเป็นตาข่ายมาปิดรอยฉีกขาดไว้
เลือดกำเดาไหลเป็นภาวะหรืออาการที่พบได้บ่อยในคนทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้สูงอายุ แต่จะพบได้สูงในเด็กอายุ 2-10 ปี (แต่มักไม่พบในเด็กอ่อน) และคนวัยหนุ่มสาว โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวที่อากาศจะเย็นและแห้งกว่าปกติ เยื่อบุโพรงจมูกจึงพลอยแห้งตามไปด้วย น้ำมูกที่ติดอยู่ในจมูกก็เลยแห้งกรังอยู่ภายในทำให้เกิดความรำคาญ ต้องแคะ แกะ ขยี้จมูกบ่อย ๆ เมื่อรอยแตกเล็ก ๆ ที่พื้นผิวในโพรงจมูกเริ่มเกิดขึ้นโดยเฉพาะบริเวณส่วนหน้าของผนังกั้นโพรงจมูกที่มีหลอดเลือดฝอยจำนวนมากมาบรรจบกัน เมื่อถูกแคะหรือขยี้ก็จะทำให้รอยแตกเกิดเป็นแผลถลอกขึ้น หลอดเลือดฝอยจึงฉีกขาดทำให้เกิดเลือดกำเดาไหลออกมาจากจมูก
ภาวะนี้ผู้ชายและผู้หญิงมีโอกาสเกิดได้เท่า ๆ กัน (แต่บางข้อมูลระบุว่า พบได้ในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง) โดยประมาณ 10-12% ของประชากรจะมีเลือดกำเดาออกครั้งหนึ่งในชีวิต แต่จะมีผู้ป่วยประมาณ 10% เท่านั้นที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล โดยผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ด้วยปัญหานี้สามารถแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ได้ 2 กลุ่ม คือ
- กลุ่มที่มีเลือดออกจำนวนน้อย ๆ และหยุดไหลได้เอง แต่เป็นมาแล้วหลายครั้ง กลุ่มนี้มักพบในเด็ก วัยรุ่น หรือผู้ใหญ่ที่อายุยังน้อย ซึ่งจะมีเลือดออกมาจากส่วนหน้าของโพรงจมูก
- กลุ่มที่มีเลือดออกจากจมูกเพียงครั้งเดียว แต่มีเลือดออกจำนวนมากและไม่สามารถหยุดไหลได้เอง มักพบในผู้ป่วยสูงอายุที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว เช่น โรคความดันโลหิตสูง โดยเลือดที่ออกมักจะมาจากส่วนหลังของโพรงจมูก
IMAGE SOURCE : www.proceduresconsult.jp (Kiessel bach’s plexus หรือ Little’s area)
ตำแหน่งที่เลือดกำเดาไหล
- เลือดออกมาจากส่วนหน้าของโพรงจมูก (Anterior epistaxis) เป็นกรณีที่พบได้ประมาณ 90% ของเลือดกำเดาไหลทั้งหมด มักพบในเด็ก วัยรุ่น หรือผู้ใหญ่ที่อายุยังน้อย ที่มีประวัติการแคะจมูกหรือเยื่อบุจมูกอักเสบ ส่วนมากเลือดมักออกมาจากบริเวณผนังกั้นช่องจมูกด้านหน้า ซึ่งเป็นบริเวณที่มีหลอดเลือดหลายแขนงรวมกัน ตำแหน่งนี้สามารถมองเห็นได้ง่ายจากการตรวจโพรงจมูกทางด้านหน้า
- เลือดออกมาจากส่วนหลังของโพรงจมูก (Posterior epistaxis) คือมีเลือดไหลลง ซึ่งมักจะมีอาการรุนแรงกว่าชนิดแรก มักพบได้ในผู้ป่วยสูงอายุที่มีโรคความดันโลหิตสูงหรือมีภาวะหลอดเลือดแดงแข็งร่วมด้วย หรืออาจพบได้ในผู้ป่วยที่มีเนื้องอกบริเวณโพรงหลังจมูกที่มีเลือดมาเลี้ยงมาก (Nasopharyngeal angiofibroma) เป็นต้น โดยเลือดมักออกจากแขนงหลอดเลือดใหญ่ทางส่วนหลังโพรงจมูก ตำแหน่งนี้สามารถมองเห็นได้จากการส่องกล้องตรวจในโพรงจมูก
- เลือดออกมาจากส่วนบนของโพรงจมูก มักพบได้น้อยกว่า 2 ชนิดแรก โดยอาจเกิดจากการได้รับอุบัติเหตุบริเวณศีรษะ, การผ่าตัดไซนัส หรือเนื้องอกบางชนิด เป็นต้น
IMAGE SOURCE : www.emaze.com (Anterior epistaxis และ Posterior epistaxis)
เลือดออกทางส่วนหน้าของโพรงจมูกมักพบในเด็กและผู้ใหญ่ที่มีอายุน้อย เลือดออกจากส่วนหลังของโพรงจมูกมักพบในผู้สูงอายุ ซึ่งมักมีสาเหตุมาจากโรคความดันโลหิตสูง
สาเหตุที่เลือดกำเดาไหล
ภาวะเลือดกำเดาไหลอาจเป็นสาเหตุที่เกิดขึ้นในจมูกและโพรงหลังจมูก จากโรคหรือความผิดปกติของระบบร่างกายอื่น ๆ หรือเกิดจากผลข้างเคียงของยาบางชนิดที่ทำให้เลือดไหล่ง่ายกว่าปกติ
- สาเหตุที่เกิดขึ้นในจมูกและโพรงหลังจมูก เช่น
- การระคายเคืองหรือบาดเจ็บบริเวณจมูก ได้แก่ การแคะจมูก (ผู้ที่มีนิสัยชอบแคะจมูกจะมีน้ำมูกแห้งกรัง เมื่อแคะออกจะเกิดแผลถลอกและอาจเป็นแผลเรื้อรัง), การสั่งน้ำมูกแรง ๆ หรือมีการเปลี่ยนแปลงของความกดอากาศอย่างรวดเร็ว (เช่น ในระหว่างขึ้นเครื่องบิน หรือดำน้ำ ซึ่งอาจมีผลทำให้เกิดเลือดออกในโพรงอากาศข้างจมูกและมีเลือดกำเดาไหลได้), การได้รับแรงกระแทกที่จมูก (เช่น การถูกกระแทกด้วยของแข็งจากอุบัติเหตุ ซึ่งอาจมีกระดูกของจมูกแตกหักร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้), การผ่าตัดในโพรงจมูก (เช่น การผ่าตัดเยื่อบุจมูก), การผ่าตัดโพรงไซนัส, การผ่าตัดผนังกั้นช่องจมูก, การใส่ท่อช่วยหายใจผ่านทางจมูก, การใช้ยาสเตียรอยด์พ่นจมูกหรือสูดดมโคเคนอย่างไม่ถูกต้องเป็นเวลานาน ๆ เป็นต้น ซึ่งสาเหตุดังกล่าวนี้จะทำให้มีเลือดออกจากจมูกเนื่องจากมีการฉีกขาดของเยื่อบุโพรงจมูก โดยเลือดที่ออกมามักจะมีปริมาณไม่มากและออกเป็นระยะเวลาสั้น ๆ แต่ก็อาจมีเลือดออกซ้ำได้ในช่วงระยะที่กำลังหายก็ได้ นอกจากนี้การได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะและใบหน้าอย่างรุนแรง (ซึ่งอาจโดนที่จมูกโดยตรงหรือโพรงไซนัส) ก็อาจทำให้มีเลือดออกจากจมูกเป็นปริมาณมากในระยะแรกก็ได้ (ถ้ามีเลือดออกจากจมูกหลังการบาดเจ็บในระยะเวลาเป็นสัปดาห์ให้นึกถึงเส้นเลือดโป่งพองที่เกิดจากอุบัติเหตุไว้ด้วย) ส่วนภาวะอากาศหนาวซึ่งมีความชื้นต่ำก็อาจทำให้เยื่อบุจมูกแห้งและมีแนวโน้มที่จะทำให้มีการระคายเคืองและเลือดออกได้ง่ายเช่นกัน จึงทำให้ภาวะนี้มักพบในช่วงฤดูที่มีอากาศหนาวมากกว่าฤดูอื่น ๆ
- ความผิดปกติทางกายวิภาคของโพรงจมูก เช่น ผนังกั้นช่องจมูกคด หรือมีกระดูกงอก หรือมีรูทะลุ ซึ่งจะทำให้เกิดความไม่สมดุลของอากาศที่ผ่านเข้าออกและทำให้ผู้ป่วยมีเลือดกำเดาไหลข้างที่ผนังกั้นช่องจมูกคดหรือข้างที่แคบ เนื่องจากข้างที่แคบนั้นจะมีลมหายใจหรืออากาศผ่านเข้าออกมากและเร็วกว่าปกติ จึงทำให้เยื่อบุจมูกบริเวณดังกล่าวแห้ง มีสะเก็ด และเปราะบาง ส่งผลทำให้มีเลือดออกได้ง่าย โดยจุดที่มักจะเกิดเลือดออกนั้นมักจะเป็นที่ตำแหน่งทางด้านหน้าของบริเวณที่มีการคดงอหรือมีกระดูกงอก
- การอักเสบในโพรงจมูก เช่น ภาวะการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน, โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้, ไซนัสอักเสบ, การมีสิ่งแปลกปลอมในจมูก (เช่น ปลิง เมล็ดผลไม้ ซึ่งก่อให้เกิดแผลและการติดเชื้อ), การสัมผัสสารระคายเคืองต่าง ๆ (เช่น การสูดโคเคนทางจมูก การใช้ออกซิเจนที่มีความชื้นต่ำ การใช้เครื่องอัดอากาศขณะหายใจเข้า (Nasal continuous positive airway pressure – CPAP) เพื่อรักษาภาวะหยุดหายใจขณะหลับ) เป็นต้น ซึ่งสาเหตุดังกล่าวเหล่านี้จะทำให้มีเลือดคั่งที่เยื่อบุจมูก และ/หรือเยื่อบุไซนัสมากกว่าปกติ และเส้นเลือดจะแตกได้ง่าย เลือดที่ออกจากสาเหตุนี้มักปนมากับน้ำมูก แต่ถ้าความรุนแรงของการอักเสบเพิ่มขึ้นหรือผู้ป่วยสั่งน้ำมูกหรือจามแรง ๆ ก็อาจจะมีเลือดกำเดาออกมากได้
- เนื้องอกของโพรงจมูก เช่น เนื้องอกชนิดไม่ร้ายอย่างริดสีดวงจมูก, เนื้องอกของหลอดเลือด (Juvenile nasopharyngeal angiofibroma) ซึ่งมักพบในเด็กผู้ชายและเป็นข้างเดียว, มะเร็งในจมูก ไซนัส หรือโพรงหลังจมูก ซึ่งมักพบในผู้ใหญ่ เป็นต้น เป็นสาเหตุที่พบได้ไม่บ่อยและทำให้ผู้ป่วยมีเลือดกำเดาออกทีละมาก ๆ ดังนั้น ผู้ป่วยที่มีอาการเลือดออกจากจมูกแบบเป็น ๆ หาย ๆ หรือมีเลือดออกจากจมูกเป็นปริมาณมาก ๆ ควรได้รับการส่องกล้องตรวจในโพรงจมูก หรือได้รับการตรวจเอกซเรย์ว่ามีเนื้องอกเป็นสาเหตุหรือไม่
- ความผิดปกติของหลอดเลือดที่มาเลี้ยงจมูก เช่น เส้นเลือดโป่งพองที่เกิดจากอุบัติเหตุ, ความผิดปกติของเส้นเลือดแดงและเส้นเลือดดำที่มาเชื่อมต่อกันจากอุบัติเหตุ เป็นต้น
- สาเหตุที่เกิดจากโรคหรือความผิดปกติของระบบร่างกายอื่น ๆ ได้แก่
- โรคเลือดชนิดต่าง ๆ ได้แก่ ความผิดปกติในการแข็งตัวของเลือด เช่น ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ, มะเร็งเม็ดเลือดขาว, โลหิตจางจากไขกระดูกฝ่อ, ไอทีพี, โรคเลือดไหลไม่หยุดหรือฮีโมฟิเลีย (Hemophilia), โรคตับและไต (เช่น ตับแข็ง ตับวาย ไตวาย) เพราะทำให้เกล็ดเลือดทำงานผิดปกติ, การดื่มเหล้ามาก, ภาวะการขาดสารอาหารจำพวกวิตามิน (เช่น วิตามินซี วิตามินเค), การได้รับยาต้านการแข็งตัวของเลือด
- โรคของหลอดเลือด เช่น โรคความดันโลหิตสูง (เพราะเป็นโรคที่มีผนังหลอดเลือดตีบแข็งและการยืดหยุ่นของหลอดเลือดไม่ดี จึงทำให้หลอดเลือดเปราะและแตกได้ง่าย), โรคทางพันธุกรรมบางชนิดที่มีความผิดปกติของหลอดเลือดทั่วร่างกาย (Hereditary hemorrhagic telangiectasia – HHT) เป็นต้น
- ไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งเป็นกรณีที่พบได้ราวร้อยละ 10
- ในบางกรณีพิเศษ อาการปวดศีรษะไมเกรนในเด็กก็อาจเป็นสาเหตุทำให้เลือดกำเดาไหลได้
- สาเหตุที่เกิดจากผลข้างเคียงของยาบางชนิดที่ทำให้เลือดไหลง่ายกว่าปกติ เช่น ยาแอสไพริน (Aspirin), ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์หรือเอ็นเสด (NSAIDs), ยาต้านการแข็งตัวของเลือด (Anticoagulants) เช่น เฮพาริน (Heparin), วาร์ฟาริน (Warfarin) เป็นต้น
โดยมากมักไม่มีสาเหตุที่ร้ายแรง ซึ่งจะมีเลือดออกเพียงเล็กน้อ